Thursday 15 December 2016

"นอนไม่หลับ ไม่ใช่หายนะ!" : แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิต (การนอน) ก็เปลี่ยน

"นอนไม่หลับ ไม่ใช่หายนะ!" : แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิต (การนอน) ก็เปลี่ยน 

ถึงแม้การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยๆ 7 - 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นสิ่งสำคัญ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนจะสามารถนอนหลับได้แบบนั้นเสมอไป เราต่างเคยเผชิญกับคืนบางคืนที่ “หลับไม่ลง” นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องต้องเผชิญกับภาวะนอนไม่หลับหรือหลับยาก เป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน และนั่นก็เป็นที่มาของความเครียด ความกังวล ต่างๆ นานา สุดท้าย เมื่อนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ ต่อเนื่องกันนานๆ ความเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น ย่อมสั่งสมพอกพูน เป็นความเครียดหนักขึ้นไปอีก แต่การนอนไม่หลับ หรือหลับยาก น่ากลัว ขนาดนั้นจริงหรือ? 

เราลองมามองการนอนไม่หลับหรือหลับยากในอีกมุมดีไหม เพื่อว่าเราจะอยู่ร่วมกับมันได้ แบบที่ยังสามารถรักษา “คุณภาพชีวิตดีๆ” ของเราไว้ได้ 

 1. การผ่อนคลาย สำคัญกว่า การพยายามนอนหลับ 

 2. การพักผ่อน กับ การผ่อนคลายไม่เหมือนกัน เพราะการพักผ่อนบางอย่าง ไม่ใช่การผ่อนคลาย แต่อาจเพิ่มความคิด ความเครียด และความกดดันด้วยซ้ำ เช่น การพักผ่อนโดยการเล่นไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เช่น facebook หลายครั้ง เล่นไปเล่นมา กลับเครียด หรือใจคอไม่สงบ เพราะเกิดดราม่าขึ้นในใจอย่างมากมาย 

 3. หลับหรือไม่หลับ ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ การผ่อนคลาย เมื่อผ่อนคลาย ทั้งร่างกาย และ จิตใจ นอนหลับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตอนเช้าสามารถสดชื่นได้ 


 4. การนอนหลับ หรือไม่หลับ เป็นเรื่องธรรมชาติ (บังคับไม่ได้) แต่การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ และการผ่อนคลาย เป็นสิ่งสำคัญกับสุขภาพกาย และสุขภาพใจมากกว่า 

5. สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการนอน คือ "ความคาดหวัง" ที่จะหลับ ฝึกรู้ทัน.. และ วางมันลง...คือ เคล็ดลับของความสุขในยามค่ำคืน (รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ในชีวิต) 

 6. การนอนไม่หลับ ไม่ใช่ “หายนะ” การตื่นกลางดึก ก็ไม่ใช่หายนะเช่นกัน การไม่ผ่อนคลาย ความกดดัน และการบังคับตัวเองให้หลับต่างหากที่เป็นหายนะ (เมื่อใจและกายผ่อนคลาย ตอนเช้าก็สดชื่นได้ แม้ไม่ได้นอน) 

 7. การนอนหลับ ไม่ใช่หนทางเดียวที่จะช่วยเยียวยาร่างกายตอนกลางคืน การผ่อนคลาย การปล่อยวาง ต่างหากที่ช่วย เมื่อไม่ตั้งใจจะหลับ การหลับที่เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นเอง 

 8. เมื่อไม่กลัว "การนอนไมหลับ" ชีวิตก็ง่ายขึ้นเยอะ (นอนหลับหรือไม่หลับ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เครียด กังวล อีกต่อไป)  

9. สรุป ปัญหา "การนอนไม่หลับ" ไม่ใช่ปัญหา แต่วิธี "การคิด" และ "การพยายามที่จะหลับให้ได้" ต่างหากที่เป็นปัญหา ผู้เขียน : ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

No comments:

Post a Comment